เปิดแฟรนไชส์กาแฟ "เอี๊ยะแซ" กาแฟดัง ย่านเยาวราช อายุ 77 ปี
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 10 ฉบับที่ 125
"เอี๊ยะแซ" ร้านขายกาแฟเก่าแก่ย่านเยาวราช ที่นับอายุย้อนหลังไปไกลได้ 77 ปี มาถึงวันนี้ ทายาทที่เข้าดำเนินกิจการเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว
การปรับตัวอย่างหนึ่งของกาแฟยี่ห้อเก่าแก่นี้คือการรับผู้เข้าร่วมลงทุนในระบบแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ที่ "เส้นทางเศรษฐี" จะได้นำมากล่าวถึงในคราวนี้
ได้พูดคุยกับ คุณปริญญา ทองวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการเอี๊ยะแซ และเขาคือทายาทรุ่นที่ 4 ที่พูดถึง คุณปริญญา ได้เล่าให้ฟังถึงการผ่านร้อนผ่านหนาวของกาแฟยี่ห้อนี้มาอย่างโชกโชน ผ่านภาวะเศรษฐกิจมาหลายยุคหลายสมัย
ที่ตั้งร้านดั้งเดิมคือ ย่านเยาวราช แหล่งขายทองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศ และยังเป็นแหล่งอาหารการกินที่อร่อยขึ้นชื่ออีกด้วย "เอี๊ยะแซ" ยึดหัวหาดทำเลนี้มาแต่เริ่มต้น จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งคุณปริญญา ว่า แม้จะย้ายที่ขายไปมาแต่ก็ไม่เกินรัศมี 30 เมตรโดยรอบ แต่ทำเลหลักก็คือหน้าร้านขายทองฮั่วเซ่งเฮง ในเวลากลางคืน และตึกแถวในซอยเมืองทองนาฬิกา ที่ใครๆ ในย่านเยาวราชรู้จักกันดี
ด้วยรูปแบบของร้านและรสชาติของกาแฟ ทำให้ร้านแห่งนี้มีลูกค้าประจำอยู่พอสมควร แม้เจ้าของร้านเองก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่า ในแต่ละวันเขาได้ต้อนรับใครไปบ้าง บางคนมีฐานะทางสังคม มีหน้าที่การงานใหญ่ระดับประเทศ บ้างเป็นผู้บริหารใหญ่ของบริษัทภาคเอกชน บ้างเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฯลฯ
แต่วันหนึ่ง ที่ร้านแห่งนี้ได้มีโอกาสต้อนรับ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ นักชิมชื่อดังของเมืองไทย และจากวันนั้นเองที่ผู้เป็นเจ้าของร้านบอกว่าเป็นจุดที่ทำให้ร้านเติบโตขึ้นมาได้
"คุณอาหม่อมบอกว่า กาแฟอย่างนี้ ชั้นหากินมานานแล้ว" คุณปริญญา เล่าให้ฟัง และในวันรุ่งขึ้น ป้ายเชลล์ชวนชิมก็มาถึงที่ร้าน
จากรสชาติที่พิเศษไม่เหมือนใครและป้ายการันตีความอร่อยนี้เองที่ทำให้ เอี๊ยะแซ เข้าไปขายในฟู้ดส์เซ็นเตอร์ของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ราชดำริ ห้างดังเมื่อหลายสิบปีก่อน และเป็นห้างในยุคแรกๆ ที่นำศูนย์อาหารเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า
"หลังจากที่เข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ราชดำริแล้ว ยังเข้าไปขายในห้างอื่นๆ ได้อีกราว 22 จุด" คุณปริญญา เล่าให้ฟัง
กิจการดูเหมือนว่ากำลังไปได้สวย แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนับแต่ช่วงต้นปี 2540 เป็นต้นมา ทำให้หลายห้างสรรพสินค้า พยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และการขายน้ำดื่ม เครื่องดื่มด้วยตัวเอง เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่บรรดาห้างสรรพสินค้านำมาใช้ จุดนี้เองที่ เอี๊ยะแซ ต้องค่อยถอยตัวออกมาจากห้าง
"ผมคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องจับตลาดบนเสมอไป เราลงมาอยู่ระดับกลางๆ และขายในตลาดทั่วๆ ไปก็น่าจะได้ ผมเลยออกยืนขายบนรถเข็นหน้าห้างร้านขายทองฮั่วเซ่งเฮง ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ"
ไม่ว่าจะขาย ณ จุดใด ลูกค้ายังให้การยอมรับอยู่เช่นเดิม ด้วยมีจุดขายที่แข็งแกร่งคือรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภค และในระยะต่อมา ผู้บริโภคเริ่มสนใจกิจการกาแฟมากขึ้น จึงเข้ามาถามคุณปริญญาอยู่บ่อยครั้งในเรื่องของการขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์
"ผมมองดูแล้วว่า หากเราขยายสาขาด้วยตัวเอง ต้องใช้เงินเป็นจำนวนสูงมาก และต้องใช้กำลังคนมาก การควบคุมอาจจะไม่ทั่วถึง แต่ถ้าเราใช้ระบบแฟรนไชส์ อาจจะเป็นไปได้มากกว่า" คุณปริญญา ว่าอย่างนั้น
ทว่า การขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์ มิใช่ว่า นึกจะขายก็ขายได้ เรื่องนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด หรืออย่างที่คนคิดง่ายๆ ก็พับเสื่อกันไปเป็นแถว เพราะอย่าลืมว่าการขายแฟรนไชส์ ก็คือการให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้มาใช้ชื่อร้าน มาใช้ระบบร้านของตัวเอง ทำได้ดีก็ดีไป ทำไม่ดี ก็มิใช่ว่าจะเสียชื่อแค่คนทำ หากแต่จะเสียกันไปทั้งระบบ นั่นคือลูกค้าไม่ได้ต่อว่า นาย ก นาย ข ทำไม่ดี แต่เขาจะว่า ร้าน "จุดจุดจุด" นี้ทำไม่ดี ดังที่มีคนพูดว่า จะหาผู้เข้าร่วมแฟรนไชส์ หรือในขณะเดียวกัน ที่หาเลือกหาซื้อแฟรนไชส์ ก็เหมือนคนที่กำลังจะแต่งงานกัน ต้องร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกันตลอด แม้จะมีสัญญาหรือทะเบียนสมรส แต่ถ้าไปด้วยกันไม่ได้ ก็ต้องพบกับภาวะ กระอักกระอ่วน กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่อย่างนั้น
ทางด้านของคุณปริญญา ก็เช่นเดียวกัน เขาว่า แม้จะมีใครที่มีเงินมาสักแค่ไหน แต่ถ้าไม่มี "ใจ" ให้กันแล้ว เขาก็คงไม่เอาแบรนด์ที่สู้อุตส่าห์สร้างสมมาเกือบจะร้อยปีอยู่แล้ว เข้าไปแลกเด็ดขาด ดังนั้น จึงไม่แปลกใจหากผู้เป็นเจ้าของ จะรักชื่อ รักยี่ห้อของตัวเองอย่างยิ่ง
"ส่วนใหญ่ที่เข้ามาถามผมเรื่องแฟรนไชส์ จะถามผมว่า เท่าไหร่ ผมก็จะบอกไป แต่ถามต่ออีกว่า ได้อะไรบ้าง ผมไม่อยากตอบ เพราะต้องมาคุยกันมากกว่า แน่นอนว่า การที่ผมจะขายให้ใครไปผมก็ต้องการให้อยู่รอดได้ ไม่ใช่ซื้อไปแล้วก็ไปไม่รอด อย่างนั้นผมแย่ด้วยนะ"
คุณปริญญา เล่าให้ฟังอีกว่า ลูกค้าที่เข้า ที่ตั้งใจจริง มักจะมีทำเลอยู่ในมือแล้ว คือมองแล้วว่าจะไปขายที่ไหน ขายอย่างไร ก็เข้ามาคุย เข้ามาถามถึงเงื่อนไขต่างๆ แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีทำเลเขาว่าแสดงว่ายังไม่มีความตั้งใจจริงเท่าที่ควร
อย่างที่ผู้ประกอบการรายนี้ว่าไว้ คนที่ตั้งใจจริง น่าจะมีทำเลอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยก็ต้องเล็งๆ ไว้ก่อน เพราะไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรมีข้อมูลอยู่ในมือบ้างแล้วว่า หนึ่ง ตัวเองอยากทำอะไร หรืออย่างน้อยๆ ต้องตอบได้ว่า ตัวเองรักหรือถนัดในเรื่องใด เพราะการทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดจะประสบความสำเร็จได้ง่าย เท่ากับว่าได้ให้ "ใจ" ไปแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ มีอะไรอยู่ที่หน้าตักตัวเองบ้าง สิ่งที่อยู่ที่หน้าตักนี้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เท่าที่พอจะนำไปข้องเกี่ยวกับการลงทุนได้ ทั้งเงินทุน (อันนี้สำคัญที่สุด) แรงงาน พื้นฐานความรู้ ความถนัด อุปกรณ์ ทำเล สถานที่ ความสัมพันธ์ หรือที่พูดๆ กันว่า คอนเน็กชั่น กับคนอื่นๆ หากใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นตัวลงทุนในเบื้องต้น สิ่งที่ตามมาก็จะง่ายขึ้น
"ผมเคยเจอประเภทที่เป็นนายทุน มีเงิน แล้วกะจะมาทำเล่นๆ ปล่อยลูกน้อง อย่างนั้นผมไม่เอาเลยนะ เพราะผมต้องการให้ผู้ลงทุนจริงจัง และจริงใจต่อกัน ผมยอมเหนื่อยกับคนที่จริงใจและรักยี่ห้อของผมมากกว่า นอกจากนี้ ผมยังกำหนดไว้ในสัญญาเลยว่า ผมสามารถเข้าไปตรวจเยี่ยมร้านค้าเมื่อใดก็ได้ และสามารถเข้าไปดูแลในส่วนเตรียมเครื่องดื่มได้เลย ถ้าไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ผมสามารถเลิกได้เลย ผมทำมาขนาดนี้ ผมก็เคยเจออยู่คนหนึ่ง แรกๆ เค้าดีมากเลยนะ ต่อมามาตรฐานค่อยๆ ลดลง ผมว่า คุณทำแบบนี้ไม่ได้นะ เค้าท้าให้ผมไปฟ้อง ผมก็บอกว่า คนเราทำมาหากิน ผมไม่เสียเวลาไปฟ้องหรอก แต่อย่าได้มาเจอะมาเจอกันในแวดวงนี้อีกเลย"
สำหรับเงื่อนไขการลงทุนกับแฟรนไชส์ "เอี๊ยะแซ" มีอยู่ว่า เสียค่าธรรมเนียมในปีแรก 40,000 บาท และปีต่อไปปีละ 20,000 บาท สัญญา 3 ปี ทางบริษัทส่งของให้ ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไปสามารถใช้ชื่อนี้ได้ และได้รับการฝึกอบรมการจัดการร้านจนกว่าจะสามารถทำได้
"บางคนส่งลูกน้องมาทำอย่างเดียว ผมไม่ยอม เพราะผมคิดว่า ผู้ลงทุนต้องทำเป็นเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือไม่เคยทำอะไรมาเลย ถ้าซื้อแฟรนไชส์ผมแล้ว ต้องมาฝึกฝน มาอบรม เพราะอะไร เพราะถ้าวันดีคืนดีลูกน้องออกไปล่ะ คุณไม่แย่หรือ อีกอย่างผมไม่สามารถรู้สภาวะของแต่ละคนได้"
นอกจากนี้ คุณปริญญา ยังบอกอีกว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ร้านกาแฟของเขามีลูกค้าประจำอยู่มากทีเดียว และหากเขาได้รับคำติชมจากลูกค้า ไม่ว่าจะไปใช้บริการในสาขาใด เขาจะยึดคำติชมนั้นเป็นหลักและเขาสามารถนำคำติชมนี้ไปดำเนินการกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้ เพราะถือว่า การที่ลูกค้านำข่าวสารมาบอกนี้ ลูกค้าไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย
เมล็ดกาแฟมาจากสองแหล่งคือ อะราบิก้า มาจากเหนือ และโรบัสต้า มาจากทางภาคใต้ มาผ่านการคั่วและบดโดยโรงงานที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครไม่เพียงแต่เปิดรับผู้เข้าร่วมแฟรนไชส์ กาแฟ เอี๊ยะแซ ยังมีขายเป็นถุงๆ สำหรับไปชงดื่มเองที่บ้าน หรือร้านอาหารที่ต้องการนำไปชงบริการลูกค้าในร้าน
สำหรับงานเมืองแห่งภูมิปัญญา หรือ โอท็อปซิตี้ ครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2547 ที่ผ่านมานี้ "เอี๊ยะแซ" ได้ไปออกร้านและได้รับคัดเลือก ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนของจังหวัดสมุทรสาคร ในระดับ 5 ดาว โดยยึดจังหวัดฐานการผลิตเป็นจุดในการพิจารณา
จนถึงวันนี้ เอี๊ยะแซ มีสาขาอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และเมื่อไม่นาน ยังได้รับเลือกให้เข้าไปบริการในส่วนคอฟฟี่ แบงกิ้ง ของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งอีกด้วย และนี่คือเรื่องราวของกาแฟ ที่สร้างชื่อมานาน 77 ปี โดยค่อยสะสมค่อยเป็นค่อยไป จากรุ่นทวด มาสู่รุ่นเหลน หรือทายาททางธุรกิจในรุ่นที่ 4 จากขายรถเข็น ตั้งกระทะคั่วเมล็ดกาแฟ มาสู่การกระจายสาขาไปทั่วประเทศ และมีโรงงานผลิตใหญ่โตจนเป็นที่ยอมรับ เหล่านี้มิใช่สิ่งที่ลอยมาในอากาศ หากแต่เกิดจากความตั้งใจ มุ่งมั่น และสร้างสมเป็นประสบการณ์ เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่โทร. (02) 622-4080, (01) 573-3388
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทธุรกิจ กาแฟ
การดำเนินการ ระบบแฟรนไชส์
การลงทุน 40,000 บาท
แรงงาน 1-2 คน
ทำเล ย่านชุมชน
สัญญา 3 ปี ต่อสัญญาปีต่อไปปีละ 20,000 บาท
ข้อได้เปรียบ รูปแบบร้าน ชื่อเสียง และรสชาติของกาแฟ
-----------------------------------