เข้าชมรายละเอียด THE INDIAN TEA

เข้าชมรายละเอียด THE INDIAN TEA
แฟรนไชส์กาแฟสดและกาแฟชงสำเร็จ ชาอินเดีย กาแฟเปอร์เซีย ราคาเริ่มต้น 6,900 - 399,000 เข้าชมรายละเอียด แฟรนไชส์ THE INDIAN TEA คลิ๊กที่รูปภาพด้านบน ติดต่อคุณมาโนช โทร.084-682-5999 , 092-369-3951 LINE ID : @THEINDIANTEA / หรือเซฟเบอร์ 084-682-5999

ค้นหาทำเลเปิดร้านกาแฟ แสดงผลการค้นหาชัดเจน ตรงประเด็น จากกลุ่มเว็บที่เรานิยมใช้เป็นประจำ

Loading

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กาแฟ เบเกอร์รี่ กรณีศึกษา ลำภูรา นายขุกมิ่ง เค้กขุกมิ่ง


กาแฟ เบเกอร์รี่ กรณีศึกษา ลำภูรา นายขุกมิ่ง เค้กขุกมิ่ง ในปัจจุบันผู้มาเที่ยวจังหวัดตรังจะยอมรับว่าสัญลักษณ์ที่เด่นประการหนึ่งของจังหวัดตรัง คือ ขนมเค้ก คือมีขนนมเค้กผลิตที่จังหวัดตรังมากมายหลายยี่ห้อ มีรสชาติอร่อยถูกปาก คนที่มาเที่ยวเมืองตรังไม่ว่าจะชาวไทยหรือคนต่างประเทศจะต้องหาทางลิ้มรสขนมเค้กรวมทั้งซื้อกลับไปฝากญาติมิตรด้วย ขนมเค้กจึงกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดตรัง


สัญญาเลขที่ _YSL-T15_
โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
นายขุกมิ่ง เค้กขุกมิ่ง และลำภูรา
อาจารย์ที่ปรึกษา
นางปราณี   วรศรี   นางสาวรุ่งอรุณ  อุทัยรัตน์
โรงเรียน ลำภูราเรืองวิทย์ อำเภอห้วยยอด  จังหวัดตรัง
คณะนักวิจัย
1.  นายปิยะศักดิ์   สงมา
2.  เด็กชายเกรียงไกร   คงเรือง
3.  เด็กชายสรรเสริญ   ช่วยออก
4.  เด็กหญิงจุฑามาศ   ฉิมอินทร์
5.  เด็กหญิงวนิดา   ภู่ระหงษ์
6.  เด็กหญิงวรรณอนงค์   ชุมคง

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.)
ในโครงการ  “ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้”

๑ บทนำ

ในปัจจุบันผู้มาเที่ยวจังหวัดตรังจะยอมรับว่าสัญลักษณ์ที่เด่นประการหนึ่งของจังหวัดตรัง คือ ขนมเค้ก คือมีขนนมเค้กผลิตที่จังหวัดตรังมากมายหลายยี่ห้อ มีรสชาติอร่อยถูกปาก คนที่มาเที่ยวเมืองตรังไม่ว่าจะชาวไทยหรือคนต่างประเทศจะต้องหาทางลิ้มรสขนมเค้กรวมทั้งซื้อกลับไปฝากญาติมิตรด้วย ขนมเค้กจึงกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดตรัง

หากคนสนใจขนมเค้กมากกว่านั้นจะทราบต่อไปว่าแหล่งเดิมของขนมเค้กไม่ใช่เมืองตรัง แต่เป็นลำภูรา ซึ่งในอดีตคือชุมชนเล็กๆอยู่ห่างจากตรังไปประมาณ 14 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ดังนั้นจึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามลงไปถึงลำภูรา ซึ่งไม่เพียงเพื่อซื้อหาขนมเค้กที่น่าจะอร่อยกว่าทุกที่เท่านั้น แต่ยังต้องการเห็นและเยี่ยมชมสถานที่และวิถีชีวิตผู้คนที่เป็นแหล่งดั้งเดิมของการผลิตเค้กด้วย และที่ลำภูราถึงแม้จะมีร้านเค้กไม่ต่ำกว่า 8 ร้าน แต่ว่ามีร้านหนึ่งที่คนไปอุดหนุนมากกว่าร้านอื่นๆ มีป้ายขนาดใหญ่บอกชื่อร้านนี้ไว้ว่า “เค้กขุกมิ่ง ต้นกำเนิดเค้กพื้นเมืองภาคใต้”
หากพูดคุยกับคนที่เข้าไปซื้อหาขนมในร้าน “เค้กขุกมิ่ง” มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มาเพียงการซื้อขนม แต่อยากมาแวะเยี่ยมร้าน แวะพูดคุยและทำความรู้จักเจ้าของร้าน ด้วยความเคารพศรัทธาเรื่องราวของเจ้าของร้านที่ชื่อ “นายขุกมิ่ง” คนตัวเล็กๆ ที่อพยพมาจากเมืองจีนแต่วัยหนุ่มเพียงลำพัง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ลำภูราด้วยการเช่าร้านมุงจากขนาดเล็กพร้อมกับภรรยาที่พบกันที่ลำภูรานั้นเอง เขาเริ่มต้นด้วยร้านกาแฟ จากนั้นอาศัยความมุ่งมั่น ความตั้งใจจริง การเคารพลูกค้า พยายามผลิตขนมต่างๆขึ้นมา ในที่สุดก็ถึงขนมเค้ก และพัฒนาต่อเนื่องมาจนกลายเป็นสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ลำภูรา และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองตรังในที่สุด จนในปัจจุบันในจังหวัดตรังมีเค้กยี่ห้อต่างๆมากกว่า 200 ยี่ห้อ และกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมของจังหวัด

นายขุกมิ่งเจ้าของเค้กยี่ห้อ “ขุกมิ่ง” จึงเป็นบุคคลที่น่าศึกษา เพราะเขาไม่เพียงสร้างความสำเร็จให้แก่ตัวเองและครอบครัวเท่านั้น แต่เขายังสร้างความเจริญให้แก่สังคมที่เขาอยู่ด้วย โดยเฉพาะ “ลำภูรา” และเลยไปถึงจังหวัดตรังโดยส่วนรวมด้วย อีกทั้งการศึกษาเรื่องราวของนายขุกมิ่งไม่เพียงจะช่วยให้เราเข้าใจการต่อสู่ชีวิตของคนๆหนึ่งเท่านั้นแต่ยังจะช่วยให้เห็นวิถีความสัมพันธ์ของผู้คนในแต่ละช่วงที่ห้อมล้อมเขาอยู่ด้วย อันจะช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของชุมชนตลาดลำภูราได้ดีขึ้น

คำถามวิจัย
๑.  ชุมชนตลาดลำภูรามีประวัติความเป็นมาอย่างไร
๒. นายขุกมิ่งมีประวัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลำภูราอย่างไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความเติบโตให้แก่ตลาดลำภูราอย่างไร

วิธีการศึกษาข้อมูล

การสัมภาษณ์

คณะวิจัยได้สัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่เป็นผู้รู้ในชุมชนจำนวน ๗ คน โดยสัมภาษณ์เกี่ยวกับพัฒนาการของชุมชนตลาดลำภูราจากอดีตถึงปัจจุบัน ประสบการณ์เกี่ยวกับนายขุกมิ่งทั้งในแง่การให้บริการด้านอาหารและความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ บทบาทของนายขุกมิ่งต่อความเติบโตของตลาดลำภูรา ชีวิตส่วนตัวและลักษณะนิสัยของนายขุกมิ่ง เป็นต้น สัมภาษณ์ผู้รู้ที่เป็นคนวัยกลางคนจำนวน 5 คน โดยสัมภาษณ์เกี่ยวกับลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนตลาดลำภูราจากอดีตถึงปัจจุบัน ประสบการณ์เกี่ยวกับนายขุกมิ่ง บทบาทของนายขุกมิ่งต่อความเติบโตของตลาดลำภูรา มุมมองที่มีต่อนายขุกมิ่งและขนมเค้กขุกมิ่ง อิทธิพลของเค้กขุกมิ่งที่มีต่อเค้กเมืองตรัง ลักษณะการเข้ามายังตลาดลำภูราของคนกลุ่มต่างๆในปัจจุบัน สัมภาษณ์บุตรสาวของนายขุกมิ่งเกี่ยวกับประวัติของนายขุกมิ่งและครอบครัว พัฒนาการการทำขนมของนายขุกมิ่ง ลักษณะเด่นในการคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการทำขนมของนายขุกมิ่ง ความสัมพันธ์ของนายขุกมิ่งกับคนกลุ่มต่างๆ เค้กขุกมิ่งใสถานการณ์ปัจจุบัน ชื่อเสียงของนายขุกมิ่งกับการยอมรับของสังคม

นอกจากนี้ยังได้จัดเวทีผู้เฒ่าเล่าเรื่อง   1  ครั้ง ประเด็นที่พูดคุยได้แก่สภาพเศรษฐกิจและสังคม ของชุมชนลำภูราจากอดีตถึงปัจจุบัน ประสบการณ์เกี่ยวกับร้านกาแฟและร้านขนมเค้กของนายขุกมิ่ง
ประสบการณ์เกี่ยวกับนายขุกมิ่งในบริบทและช่วงเวลาต่างๆ นายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่งกับการเปลี่ยนแปลงของลำภูรา

การศึกษาเอกสาร

คณะวิจัยได้ศึกษาเอกสารราชการ และบันทึกส่วนบุคคล โดยศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของตลาด    ลำภูรา การเกิดขึ้นของขนมเค้กในพื้นที่ตำบลลำภูรา ผลที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมของลำภูรา

2 ความเป็นมาของตลาดลำภูรา

ตลาดลำภูราในปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลลำภูรา  อ.ห้วยยอด  จ.ตรัง  ห่างจากตัวเมืองตรังไปทางด้านทิศเหนือประมาณ ๑๔  กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษม ตัวตลาดตั้งอยู่สองฝากฝั่งทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของถนนเพชรเกษมเส้นทางตรัง-ห้วยยอด

“ลำภูรา” เป็นชื่อที่มีความงดงาม และเป็นชื่อที่ต่างจากชื่อท้องถิ่นโดยทั่วไปที่มักเป็นชื่อง่ายๆโดยเอาลักษณะเด่นของฐานทรัพยากรมาตั้งเป็นเป็นชื่อ เช่น นำคำว่า “นา”, “เขา”, “ห้วย” มาเป็นคำแรกของชื่อ ชื่อ “ลำภูรา” ได้มาจากไหนนั้น มีคำบอกเล่าไว้ถึง 3 ทาง ทางแรกได้มาจากความทรงจำของคุณลุงสมคิด เที่ยงธรรม อายุ ๗๔ ปี ว่า ในพื้นที่มีคลองไหลผ่านและมีต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อว่า “ต้นลำพู”  ขึ้นอยู่ตามริมคลอง และต้นลำพูมีกิ่งก้านแตกยื่นลงไปในลำคลองไปสัมผัสกับผิวน้ำ หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ราน้ำ” คนสมัยก่อนจึงได้นำชื่อของต้นไม้ “ลำพู” มารวมกับคำว่า “ราน้ำ” ตั้งเป็นชื่อบ้าน แต่การเขียนทำให้ใช้ตัวอักษรผิดไปจากความหมายเดิมที่ชาวบ้านเข้าใจ คือเปลี่ยนจาก “ลำพูรา” เป็น “ลำภูรา”  ทางที่สองได้จากความทรงจำของลุงไพโรจน์  (โกป่อง)   ศิลปะเจริญ   อายุ ๘๔  ปี  นามสกุลเดิมแซ่ฮั่น ปัจจุบันอายุ 84 ปี ท่านเล่าว่าผู้ที่ตั้งชื่อ “ลำภูรา” คือพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เจ้าเมืองตรังระหว่างปี 2433 -2445 โดยเมื่อท่านผ่านมาบริเวณที่ตั้งตลาดลำภูราในปัจจุบันยามค่ำคืนท่านประทับใจบรรยากาศที่พบเห็น จึงนำธรรมชาติที่ท่านประทับใจมาประกอบกันเป็นชื่อสถานที่นั้น คือ “ลำ” ตัดมาจากคำว่าลำธาร “ภู” ตัดมาจากคำว่าภูเขา และ “รา” ตัดมาจากคำว่าดารา ซึ่งหมายถึงดวงดาว ทางที่สามสนิท  พลเดช  เขียนไว้ในหนังสือชื่อทำเนียบห้วยยอดว่า  “ลำภูรา”  เป็นคำผสมระหว่างคำนามสองคำคือคำว่า  “ลำ” ซึ่งภาษาถิ่นหมายถึงคลอง  กับคำว่า “ภูรา” ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่าปุระซึ่งหมายถึงเมือง  เมื่อ ๒ คำนำมารวมกัน จึงเรียกว่า “ลำภูรา” ซึ่งหมายความว่าคลองเมือง

อย่างไรก็ตาม 2 ข้อสันนิษฐานแรกน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะประการแรกเป็นเรื่องราวที่ได้มาจากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่เล่าต่อเนื่องกันมา ประการที่สอง สอดคล้องกับจารีตการเรียกชื่อบ้านนามเมืองของคนสมัยก่อน ที่จะใช้ลักษณะเด่นของธรรมชาติในพื้นที่นั้นเป็นชื่อบ้าน ส่วนข้อสันนิษฐานที่สามน่าจะเป็นการสันนิษฐานของนักวิชาการมากกว่า โดยนักวิชาการมักจะนำชื่อบ้านไปโยงกับภาษาบาลีหรือสันสกฤตเพื่อหารากศัพท์ ซึ่งดูจะขัดกับชื่อบ้านที่อยู่ในชนบทอย่างมาก
ชุมชนตลาดลำภูราเป็นชุมชนริมทางเกิดขึ้นมาประมาณ 100 ปี โดยคนจีนอพยพมาตั้งร้านค้า ทั้งนี้บริเวณถนนเพชรเกษมที่ผ่านตลาดลำภูราในปัจจุบันเป็นเส้นทางผ่านเข้าสู่เมืองตรังมาแต่เดิมแล้ว โดยผู้ที่มาจากห้วยยอด หรือคนจากต่างเมืองเช่นนครศรีธรรมราช  พัทลุงบางส่วน จะเดินทางผ่านเส้นทางนี้ ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นเส้นทางสำหรับเดินเท้าหรือใช้พาหนะแบบดั้งเดิม ตลาดลำภูราได้เกิดขึ้น ณ ริมเส้นทางนี้

ชุมชนตลาดลำภูราเป็นชุมชนที่ประกอบไปด้วยชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยเมื่อชาวจีนกลุ่มแรกมาตั้งถิ่นฐานแล้วก็ชักชวนชาวจีนที่รู้จักเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติม ชาวจีนทุกครัวเรือนจะเริ่มต้นอาชีพของตนด้วยการค้าขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขายอาหารการกินให้แก่คนผ่านทาง และชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่สวนซึ่งอยู่ด้านในเข้าไป แต่ชาวจีนก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยการค้าขายเพียงอย่างเดียว เพราะลูกค้ายังมีไม่มาก ชาวจีนจึงออกไปจับจองที่ดินไว้ทำสวนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะได้แก่การทำสวนยาง ชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ลำภูรามีทั้งจีนไหหลำ จีนแต้จิ๋ว และจีนแคะ นอกจากนี้ก็คนไทยพุทธในท้องถิ่นออกจากหมู่บ้านมาประกอบกิจการบางอย่างเพื่อหารายได้ แต่ว่าก็เป็นส่วนน้อยและไม่ได้ทำการค้าขายอย่างคนจีน แต่มักจะอาศัยความชำนาญของตนบางอย่างเพื่อสร้างงานบริการ เช่น ความสามารถด้านช่าง ความสามารถด้านรักษาโรคแบบพื้นบ้าน

การที่คนจีนอพยพมาถึงบริเวณดังกล่าวได้ก็เนื่องจากในเขตอำเภอนาโยงมีการให้สัมปทานเหมืองแร่หลายแห่ง เช่นที่บ้านท่างิ้ว บ้านปากแจ่ม บ้านน้ำพราย โดยมีคนจีนเป็นผู้ได้รับสัมปทาน  และตามเหมืองแร่ดังกล่าวจะมีคนงานส่วนหนึ่งเป็นคนจีนด้วย ดังนั้นจึงมีคนจีนเข้ามาในเขตอำเภอนาโยงด้วย และส่วนหนึ่งก็มาตั้งถิ่นฐานที่ลำภูรา

ตลาดลำภูราขยายตัวช้า เนื่องจากมีลูกค้าเป็นเพียงผู้เดินทางผ่านและชาวบ้านในหมู่บ้านที่อยู่นอกตลาดออกไป ซึ่งในสมัยนั้นยังมีไม่มากนัก ดังจะเห็นว่าในปี 2473 ยังคงมีผู้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในตลาดไม่มากนักดังแผนผังข้างล่างนี้

จากแผนผังจะเห็นว่ามีบ้านเรือนของของชาวบ้านอยู่ 8 หลังเท่านั้น โดยแต่ละครัวเรือนประกอบอาชีพดังนี้

โกด้วน เป็นชาวจีนแคะ มีอาชีพฆ่าวัวขายที่ตลาดนัด  เป็นคนหนึ่งที่มีสวนยางมาก โดยมีจำนวนร้อยไร่ขึ้นไป อยู่กับภรรยาและลูกหลายคน เป็นครอบครัวหนึ่งที่มีฐานะดี

          บ่าวเพชร เป็นคนไทยพุทธในท้องถิ่น เปิดร้านรับซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำสวน ทำนา และอื่นๆทุกประเภท ผู้อาวุโสที่ยังจำบ่าวเพชรได้บอกว่า “ซ่อมได้หมดตั้งแต่สากเบือยันเรือรบ”

หมอไข่ เป็นคนไทยพุทธในท้องถิ่น   เป็นหมอพื้นบ้าน และเป็นแพทย์ประจำตำบลด้วย หมอไข่เปิดขายยาพื้นบ้านและรักษาคนไข้ นอกจากจะมีคนไข้มาหาที่ร้านแล้วหมอไข่ยังเดินทางไปขายยายังพื้นที่ต่างๆด้วย เช่น อ.สิเกา จ.ตรัง โดยใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทาง ชาวบ้านที่อยู่ทันได้เห็นหมอไข่บอกว่า

“ใครเจ็บป่วยก็ต้องมาหาหมอไข่  แกเป็นคนใจดี  ตามประสาคนเป็นหมอนั่นแหละ”

  ผู้ใหญ่เด้งเป็นคนจีน เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่นานมากจนเกษียณอยู่    เป็นผู้ที่มีสวนยางมาก ถือว่าเป็นผู้มีฐานะดี กรณีของผู้ใหญ่เด้งซึ่งเป็นคนจีนได้เป็นผู้ใหญ่บ้านนี้แสดงให้เห็นว่าชาวจีนกับคนในท้องถิ่นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และแสดงว่าตลาดลำภูราได้ตั้งมานานพอสมควรจนคนจีนได้รับการยอมรับจากคนในท้องถิ่น  

          นายข้วนถ้อย เป็นคนจีน เปิดร้านขาย “โกปี้” หรือกาแฟ ร้านนี้ถือเป็นร้านกาแฟร้านแรกของตลาดลำภูรา เป็นร้านกาแฟที่ไม่ใหญ่นัก  ขายกาแฟในลักษณะกาแฟชงถุงแบบโบราณ ใส่แก้วกระเบื้องใส  ซึ่งมีคนในท้องถิ่นและผู้ผ่านทางนิยมเข้าไปดื่มกาแฟกันมากพอสมควร

นายขุกมิ่งในช่วงนี้ยังเปิดร้านขายโกปี้หรือกาแฟเช่นเดียวกับนายข้วนถ้อย และมีผู้นิยมเข้ามาดื่มกาแฟไม่ต่างกัน

ร้านกาแฟทั้งสองร้านเป็นร้านกาแฟซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าซึ่งเป็นชาวบ้านในละแวกนั้น และผู้คนที่เดินทางผ่านลำภูรา ทั้งนี้นอกจากกลิ่นกาแฟที่หอมกลุ่น และรสชาติกาแฟที่ถูกปากแล้ว บรรยากาศยามเช้าของลำภูราเป็นเสมือนเมืองในสายหมอก ซึ่งยิ่งเพิ่มมนต์ขลังให้ชุมชนตลาดแห่งนี้
ถัดมาเป็นบ้านแม่หลิว ซึ่งแม่หลิวน่าจะเป็นคนรุ่นแรกของตลาดลำภูรา และน่าจะจับจองที่ดินไว้มาก รวมทั้งประกอบธุรกิจประสบผลสำเร็จ  เพราะปรากฏว่าแม่หลิวมีฐานะดีที่สุดในตลาดและมีที่ดินมาก สวนยางก็มีมาก อีกทั้งพื้นที่ตลาดนัดก็เป็นของแม่หลิวเช่นกัน สามีของแม่หลิวเป็นชาวจีนมาจากปีนัง ลูกของแม่หลิวทุกคนล้วนไปเรียนต่อที่ปีนังทั้งสิ้น

นอกจากมีร้านค้าดังที่กล่าวมาแล้ว ตลาดลำภูรายังมีตลาดนัดด้วย และเป็นตลาดนัดสำคัญที่มีผู้คนนำสินค้ามาขายและมาซื้อหาของกินของใช้กันมาก เรียกกันว่าตลาดนัดแม่หลิว เพราะว่าแม่หลิวเป็นเจ้าของตลาด ตลาดนัดแห่งนี้เปิดค้าขายสัปดาห์ละ ๓ วัน  แม่ค้าที่มาค้าขายนอกจากจะเป็นคนจีนในตลาดและคนไทยที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่ไกลจากตลาดแล้ว  ยังมีพ่อค้าแม่ค้าจากที่อื่นมาค้าขายด้วย เช่นจากตำบลทับเที่ยงมาขายของชำ จำพวกหัวหอม กระเทียม พริกแห้ง  น้ำตาล  พ่อค้าแม่ค้าจากทับเที่ยงบางคนนำก๋วยเตี๋ยวถังแตกมาขาย พ่อค้าแม่ค้าจากพัทลุงมาขายสินค้าประเภทยาหนม(กะละแม)     เคยปลา ปลาน้ำจืดจากทะเลน้อย รวมถึงพืชผักสวนครัวต่าง ๆ     จากตำบลนาตาล่วง นำหมูย่างมาขาย จากปากพนังนำข้าวสารมาขาย สมัยนั้นข้าวสารกิโลกรัมละ 1.20 บาท – 2 บาท  นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าจากอำเภอห้วยยอด และจากตำบลทับเที่ยง มาเปิดรับซื้อยางแผ่นและเศษยางจากคนทำสวนยางที่ลำภูรา ขณะนั้นยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ ๓-๔ บาท  พ่อค้าที่รับซื้อยางแผ่นดิบเหล่านั้นจะนำไปขายต่อให้  เตียกู่  จีหุน  ซึ่งเป็นตำบลนาตาล่วง

ที่ตลาดนัดมีร้านข้างแกวที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะแกงไก่กับหน่อไม้นั้นได้รับการยกย่องว่ารสชาติดีมาก เป็นที่ติดอดติดใจของลูกค้า   คือร้านข้าวแกงแม่ไพจิตต์  เที่ยงธรรม ซึ่งแม่ไพจิตต์จะตำเครื่องแกงด้วยครกหิน

ลูกค้าที่มาจับจ่ายที่ตลาดนัดส่วนใหญ่ได้แก่คนที่ทำสวนยาง โดยเมื่อนำยางมาขายที่ตลาดนัดได้เงินก็จะซื้อข้าวของเครื่องใช้กลับไป นอกจากนี้ได้แก่คนงานเหมืองแร่ที่เหมืองน้ำพรายกับเหมืองที่ตำบลปากแจ่ม คนงานจากโรงโม่หินโจมทองศิลา  และกรรมกรการรถไฟที่สถานีลำภูรา เป็นต้น

ตลาดนัดดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่ของแม่หลิว โดยแม่หลิวจะเก็บค่าที่จากผู้มาค้าขายทุกคน ตัวตลาดส่วนหนึ่งแม่หลิวจะสร้างเป็นร้านปูด้วยไม้ยกสูงจากพื้น แล้วแม่ค้าจะขึ้นไปนั่งค้าขายบนพื้นไม้ดังกล่าว
จากแผนผังจะเห็นว่าฝั่งตรงกันข้ามกับตลาดจะเป็นสถานีรถไฟ มีบ้านพักนายสถานีซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านไม้ ในช่วงนั้นมีนายสถานีรถไฟอยู่2คน ไม่ห่างจากบ้านพักนายสถานีจะเป็นโรงกุลี ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้านใช้ หมายถึงที่พักคนงานรถไฟ  ในสมัยนั้นยังต้องใช้แรงงานมาก โดยมีคนงานไม่ต่ำกว่า 30 คน  ทั้งนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖  ทางราชการได้เปิดเดินรถไฟสายกันตัง และได้จัดสร้างสถานีรับส่งผู้โดยสารขึ้นที่ลำภูรา สถานีรถไฟลำภูราเป็นสถานีขนาดเล็กมีรถจอดที่สถานีเพียงขบวนเดียวไปกลับ  คือมาจากกรุงเทพในเวลา ๗.๐๐ น. และกลับจากกันตังเข้ากรุงเทพฯในเวลา ๑๓.๐๐ น.

  สถานีรถไฟลำภูราใช้มาระยะหนึ่งก็ยกเลิกไป เนื่องจากมีคนใช้บริการน้อย ซึ่งแสดงว่าตลาดลำภูราไม่ใช่ชุมชนใหญ่ และประชาชนที่อยู่รอบนอกออกไปก็มีเหตุจำเป็นน้อยที่จะต้องเดินทางโดยรถไฟ อีกทั้งชาวบ้านที่จำเป็นต้องเข้าเมืองซื้อสิ่งของเครื่องใช้ก็สามารถเข้าไปที่จังหวัดตรังได้ตามถนนเพชรเกษม ซึ่งในระยะนั้นยังเป็นถนนลูกรัง ลำภูราอยู่ห่างจากจังหวัดตรัง 14 กิโลเมตร ชาวบ้านสามารถเดินทางได้สะดวกโดยใช้จักรยาน แต่ต่อมาอีกระยะหนึ่งรัฐก็มารื้อฟื้นสถานีรถไฟที่ลำภูราอีก เนื่องจากเป็นช่วงระยะที่ควรมีสถานีรถไฟ แต่อยู่มาได้ระยะหนึ่งก็ต้องปิดไปอีก เนื่องจากมีคนมาใช้บริการน้อยเช่นเดิม ในปัจจุบันจึงไม่มีสถานีรถไฟอีกแล้วที่ลำภูรา

ตลาดลำภูค่อยๆขยายตัวตามสภาพของชุมชนที่การคมนาคมยังไม่เจริญนัก การขยายบ้านเรือนซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นร้านค้านั้นจะเกิดจากการขยายครัวเรือนออกมาของคนรุ่นลูกที่แต่งงาน ซึ่งมีการแต่งงานกันทั้งคนจีนด้วยกันเองและคนจีนกับคนไทย และมีการแต่งงานกับคนในพื้นที่อื่นแล้วย้ายเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่ลำภูราด้วย นอกจากนี้ยังมีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาเพื่อค้าขาย โดยเฉพาะเมื่อมีผู้สร้างห้องแถวให้เช่าการอพยพเข้ามาค้าขายที่ลำภูราก็ทำได้ง่ายขึ้น
 
จากแผนผังตลาดลำภูราในปี 2482 จะพบว่าโครงสร้างตลาดยังไม่ต่างไปจากปี 2473 นัก แต่จะเห็นได้ว่าเกิดร้านค้าเพิ่มขึ้นอีกมาก และขยายข้ามฟากมาอยู่ริมถนนด้านเดียวกับสถานีรถไฟ ซึ่งห้องแถวดังกล่าวการรถไฟเป็นผู้สร้างให้เช่า โดยเก็บค่าเช่าเป็นตารางเมตร รวมแล้วหลังหนึ่งค่าเช่า 10-20 บาทต่อเดือน  บริเวณตลาดนัดเดิมแม่หลิวก็นำไปสร้างห้องแถวให้เช่าเช่นกัน ส่วนตลาดนัดได้ย้ายเข้าไปอยู่ด้านหลัง
สิ่งที่เกิดใหม่บริเวณตลาดนัดคือโรงลิเก  โดยแม่หลิวสร้างไว้สำหรับให้ลิเกเดินสายมาเช่าเปิดวิก โดยลิเกจะเดินทางมาจากหลายจังหวัด บางคณะก็มาจากภาคกลาง เช่นมาจากนครปฐม โดยมาเปิดวิกครั้งหนึ่งหลายวัน บางคณะถึง 15 วัน คณะลิเกที่มาจากไกลๆก็จะมีรถบรรทุกเก่าๆของตัวเองตระเวนไปแสดงยังที่ต่างๆ คณะหนึ่งที่ชาวบ้านจำได้ดีเพราะชมชอบมาก คือคณะกุหลาบดำ เนื่องจากมีการแสดงที่สมจริง เนื้อเรื่องที่แสดงมีความสนุกสนาน   ราคาซื้อตั๋วชมลิเกประมาณ 2-3 บาท ในช่วงที่หนัง 16 ม.ม.กำลังเฟื่องฟู ซึ่งเป็นยุคของมิตร ชัยบัญชา เพชรา เชาวราษฎร์นั้น วิกแห่งนี้ก็มีหนังเร่แวะเข้ามาเช่าที่เปิดวิกด้วย เจ้าของบริการหนังส่วนใหญ่จะมาจากทับเที่ยง โดยนำเครื่องยนต์มาปั่นไฟฟ้าเอง
ในแผนผังจะมีส่วนที่เรียกว่า “บ่อหลวง”  ซึ่งในปี 2473 ยังไม่มี บ่อหลวงเป็นบ่อน้ำที่ทางราชการขุดขึ้นเพื่อให้ชาวตลาดมีน้ำสำหรับดื่มและใช้ คนในตลาดลำภูราจะมาตักน้ำจากที่บ่อหลวงแห่งนี้ไปใช้ และเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ใช้ในการพบปะถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของผู้คนตลาดลำภูรา มีการช่วยเหลือกันเช่นตักน้ำให้ หรือช่วยหาบน้ำกลับไปให้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นที่มากับรถไฟมาแวะอาบน้ำที่นี้ ผู้อาวุโสที่มีชีวิตทันในช่วงนั้นเล่าให้ฟังว่าทหารญี่ปุ่นมาแก้ผ้าอาบน้ำโดยไม่อายใคร ชาวบ้านก็กลัวเลยไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย

2 ปฐมบทของนายขุกมิ่ง

นายขุกมิ่ง  แซ่เฮง เกิดเมื่อ  27 สิงหาคม     2459    ณ ตำบลบุ่นเซียว บนเกาะไหหลำ บิดาชื่อนายเด้งกิน แซ่เฮง  แม่ชื่อนางเจ้งเต้ ซึ่งเป็นภรรยาคนที่สองของนายเด้งกิน  ชื่อเดิมของนายขุกมิ่ง คือ ”ก๊กหมิ่ง” ก่อนหน้านี้นายเด้งกินมีบุตรชายจากภรรยาคนแรกคนหนึ่งแล้วชื่อนายก๊กยี  ซึ่งได้อพยพมาอยู่ประเทศไทยเป็นเวลานานมาแล้ว และขาดการติดต่อกัน

การที่บุตรชายของนายเด้งกินอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็เนื่องจากประเทศจีนในสมัยนั้นอยู่ในภาวะที่บ้านแตกสาแหรกขาด เนื่องจากเป็นยุคท้ายและสิ้นสุดราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศจีนอ่อนแอ ถูกต่างชาติรุกรานอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การปฏิวัติสาธารณรัฐ คนจีนจำนวนมากจึงอพยพหนีตายออกนอกประเทศ และเมื่อนายขุกมิ่งมีอายุได้ 15 ปีพ่อแม่ก็เป็นห่วงในความปลอดภัยของบุตรชาย จึงตัดสินใจส่งบุตรชายลงเรือสำเภาโดยจุดหมายปลายทางคือประเทศไทยเช่นกัน โดยหวังว่าถ้าปะเหมาะเคราะห์ดีก็อาจได้เจอกันกับบุตรชายคนโต  หลังจากที่ได้รอนแรมอยู่ในทะเลกว้างเป็นเวลาแรมเดือน  เด็กชายขุกมิ่งก็ได้ขึ้นฝั่งที่อำเภอสุไหงปาดี  จังหวัดนราธิวาส

ที่สุไหงปาดี  เด็กชายขุกมิ่งผู้พลัดถิ่นได้เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นกรรมกรรับจ้างเพื่อแลกกับอาหารพอประทังชีวิตไปวันๆ ส่วนใหญ่เป็นงานประเภทแบกหาม  เช่น แบกข้าวสาร  ยางพารา  และงานหนักอื่นๆ ต่อมาพอเห็นลู่ทางในการประกอบอาชีพก็ออกจากสุไหงปาดีไปอยู่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ได้งานที่ร้านตัวแทนจำหน่ายน้ำอัดลมแห่งหนึ่ง  ด้วยความที่นายขุกมิ่งเป็นคนมีความขยันขันแข็งและความซื่อสัตย์  จึงได้รับมอบหมายตำแหน่งผู้จัดการสาขาให้ดูแลงานจัดจำหน่ายน้ำอัดลมในเขตจังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ และจังหวัดนครศรีธรรมราช

คุณสุดสงวน ตุงคะรักษ์ บุตรสาวของนายขุกมิ่งเล่าถึงชีวิตพ่อในช่วงนั้นว่า “  พ่อทำงานดีมาก พ่อเป็นผู้จัดการสาขาที่จังหวัดตรัง  มีหน้าที่ต้องไปเก็บเงินที่ ทุ่งสง กระบี่ นครศรีธรรมราช โดยปั่นจักรยานไป  เวลาไปต้องมีอุปกรณ์ทุกอย่างเอาไว้ซ่อม  เวลาถีบไปอานจักรยานนี่ไหม้เลยนะค่ะ  มีความทรหดมากๆ เพราะถ้าไม่อดทนเราก็ไม่รู้ว่าจะพึ่งใคร บางทีเวลาขากลับพ่อเคยเล่าให้ฟังว่าต้องเอารถจักรยานขึ้นรถรางที่ถ่อบนรางรถไฟเวลาเขาซ่อมทาง  ถ้าบังเอิญพบก็พอขออาศัยเขามาได้”

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่านายขุกมิ่งเป็นคนสู้งาน มีความอดทน ในขณะที่มีความรับผิดชอบสูง มิเช่นนั้นคงไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบตามเก็บเงิน

การเดินทางจากตรังไปทุ่งสง นครศรีธรรมราช ต้องผ่านลำภูรา ซึ่งตอนนั้นยังเป็นชุมชนตลาดเล็กๆ และเป็นชุมชนของคนจีน นายขุกมิ่งตอนนั้นยังเป็นชายหนุ่มอยู่  ได้ตัดสินใจที่จะลงหลักปักฐานที่ลำภูรา ด้วยเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีคนผ่านไปมา ในอนาคตอาจเจริญก้าวหน้า ประกอบกับได้พบกับสาวชาวจีนที่อพยพตามบิดามาจากประเทศจีนที่นี่และแต่งงานกันในที่สุด และได้ร่วมกันสร้างชีวิตด้วยความเข้มแข็งอดทนต่อเนื่องมา

นายขุกมิ่งได้เปลี่ยนอาชีพมาเปิดเป็นร้านกาแฟเล็ก ๆ บริการคนในท้องถิ่น โดยอาศัยเช่าเรือนไม้เก่า ๆ พื้นบ้านเป็นดินขรุขระ หลังคามุงด้วยใบจาก

นายขุกมิ่งตั้งใจว่าเมื่อขายกาแฟก็ต้องทำกาแฟที่อร่อยที่สุดให้ลูกค้าดื่ม เมื่อขายขนมประกอบการดื่มกาแฟก็ต้องเป็นขนมที่อร่อย นายขุกมิ่งจึงถีบจักรยานเข้าไปเมืองตรังเกือบทุกวัน โดยออกจากบ้านแต่เช้ามืด ระยะทางจากตรังถึงลำภูรา 14 กิโลเมตร นั่นหมายความว่านายขุกมิ่งต้องถีบจักรยานถึงวันละเกือบ 30 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อไปหาซื้อกาแฟและขนมดีๆ มาให้ลูกค้า โดยเฉพาะกาแฟนั้นนายขุกมิ่งก็ไม่ใช้กาแฟผงอย่างที่ใช้กันทั่วไป แต่นายขุกมิ่งได้ซื้อเมล็ดกาแฟมาคั่วและบดเองเพื่อให้กาแฟมีกลิ่นหอม มีรสชาติอร่อยถูกปากคอกาแฟทั่วไป ต่อมาเมื่อเห็นว่าขนมที่ซื้อมาคนไม่ชอบรับประทานเนื่องจากไม่อร่อย นายขุกมิ่งและภรรยาจึงต้องลงมือทำขนมเอง ทั้งขนมจีบ ซาลาเปา ปาท่องโก๋ สังขยา กะหรี่ปั๊บ แม้ขนมแต่ละอย่างทำไม่มากนัก เนื่องจากทำขายเฉพาะที่ร้าน แต่นายขุกมิ่งก็ทำเองทุกอย่าง ลูกสาวของนายขุกมิ่งกล่าวถึงพ่อและแม่ในช่วงนั้นว่า “ทั้งสองคนทำงานหนักทั้งวัน พ่ออยู่หลังร้าน แม่อยู่หน้าร้าน  ก็ทำงานหนักกันทั้งคู่  มีร้านกาแฟเป็นฐาน ความตั้งใจของพ่อคือทำอะไรต้องให้ถูกปากลูกค้าให้ได้” ลุงไพโรจน์  (โกป่อง แซ่ฮั่น) ศิลปะเจริญ   เพื่อนรุ่นน้องที่มีความสนิทสนมกับนายขุกมิ่งอย่างมากกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ผมก็เคยมาช่วยแกทำขนม แกทำขนมตลอดทั้งวัน  ร้านขุกมิ่งคนมากินกาแฟเยอะไม่ขาดสาย”

ลูกค้าของนายขุกมิ่งสมัยนั้นกลุ่มแรกคือชาวบ้านที่ออกกรีดยาง พอกรีดยางเสร็จสายๆก็พากันมาดื่มกาแฟและกินขนมกันรอบหนึ่ง ช่วงบ่ายหลังจากทำงานต่างๆเสร็จก็จะพากันมาดื่มกาแฟอีกรอบหนึ่ง รวมทั้งบางคนก็ติดกาแฟ ดื่มไปไม่ถึงชั่วโมงก็กลับมาดื่มอีก นอกจากนี้ยังมีผู้เดินทางผ่านมาแวะดื่มกาแฟด้วย เนื่องจากลำภูราอยู่ห่างจากตัวเมืองตรังประมาณ 14 กิโลเมตร ผู้ที่เดินทางกลับมาจากตรังเมื่อมาถึงตรงนี้ก็หิวพอดี หรือเดินทางผ่านเพื่อเข้าเมืองตรังก็จะมาพักเหนื่อยที่ลำภูราพอดีเช่นกัน กล่าวโดยสรุปก็คือร้านกาแฟของนายขุกมิ่งจะมีลูกค้าตลอดทั้งวัน ลูกสาวของนายขุกมิ่งเล่าว่าบางวันแม่จะบ่นเหนื่อย เพราะแก้วกาแฟเก่ายังล้างไม่เสร็จ ลูกค้าใหม่เข้ามาอีกแล้ว ในขณะที่พ่อจะยิ้มพึงพอใจที่มีลูกค้ามาก ไม่ใช่พึงพอใจเรื่องกำไร แต่พึงพอใจว่ากาแฟและขนมของพ่อมีคนนิยมดื่มและกินมากนั่นเอง
คุณสุดสงวน ตุงคะรักษ์ บุตรสาวนายขุกมิ่งย้อนความจำไปในอดีตที่ตนยังเป็นเด็กอยู่ว่าชาวบ้านที่เดินทางมาตลาดเพื่อดื่มกาแฟนั้น “นุ่งผ้าโสร่งผืนเดียว ไม่ก็นุ่งขาสั้น  สภากาแฟมีมานานแล้วนะคะ ทานกาแฟคุยกัน” ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ดื่มกาแฟนั้นได้อาศัยร้านกาแฟเป็นพื้นที่ของการพูดคุยด้วย
นอกจากนายขุกมิ่งจะพิถีพิถันในการชงกาแฟและทำขนมเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าแล้ว นายขุกมิ่งยังเป็นคนรักความสะอาด กวาดร้านทั้งวัน โต๊ะทุกตัว เก้าอี้ทุกตัว เช็ดสะอาดหมด แม้แต่ลูกค้ายังนั่งดื่มกาแฟอยู่ถ้าโต๊ะสกปรกนายขุกมิ่งก็จะเข้าไปเช็ด ใครทิ้งกระดาษในร้านนายขุกมิ่งก็ไปเก็บ ดังนั้นแม้ร้านกาแฟของนายขุกมิ่งจะเป็นเพียงร้านมุงจาก พื้นเป็นดิน แต่ว่าสะอาดมาก
           
                                                    ภาพประกอบ 1 นายขุกมิ่งและร้านกาแฟ

ความชื่นชมของลูกค้าไม่เพียงเพราะกาแฟรสเข้ม มีกลิ่นหอม และขนมอร่อยปากเท่านั้น แต่ยังพึงพอใจบุคลิกภาพของนายขุกมิ่งด้วย ดังที่คุณสุดสงวน ตุงคะรักษ์เล่าให้ฟังว่า “พ่อเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดีมาก เรียนหนังสือมาไม่สูง เขียนหนังสือไทยได้เฉพาะชื่อ  เขียนและพูดภาษาจีนได้ดี พูดไทยไม่ค่อยชัดนัก  เป็นคนยิ้ม ลูกค้ายังพูดถึงความประทับใจแม้ท่านเสียไปแล้ว เป็นคนหน้ายิ้มตลอดเวลา เป็นคนสะอาดมาก กวาดขยะอยู่ตลอดเวลา ต้องสะอาดตลอดเวลาแม้ลูกค้านั่งอยู่พ่อก็กวาด เป็นคนอัธยาศัยดีมาก”  ลุงไพโรจน์  (โกป่อง แซ่ฮั่น) ศิลปะเจริญ   เพื่อนรุ่นน้องก็กล่าวถึงบุคลิกของนายขุกมิ่งไว้ตรงกันว่า “ขุกมิ่งเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีสังคมกว้าง”

ลักษณะเฉพาะของนายขุกมิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในยุคนี้ คือเป็นผู้มีความมุ่งมั่น ต้องการให้ลูกค้าได้รับบริการด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ บริการลูกค้าด้วยอัธยาศัยที่ดี รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบ นายขุกมิ่งจึงเป็นผู้ทำงานหนักมาโดยตลอด แต่ว่าก็เป็นผู้ทำงานหนักอย่างมีความสุข เนื่องจากสามารถสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้

4 นายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่ง

ในช่วงประมาณปี 2494 – 2495 นายขุกมิ่งได้เห็นคนจีนในตัวเมืองตรังทำขนมเค้กขายจึงลองซื้อมาขายให้แก่คนดื่มกาแฟ ซึ่งเมื่อชาวบ้านซื้อรับประทานแล้วก็มักจะไม่มีใครซื้อซ้ำ ในที่สุดเค้กที่ซื้อมาขายก็เหลือทุกครั้ง นายขุกมิ่งจึงรู้ได้ว่าขนมไม่อร่อย และรู้สึกขัดใจ จึงคิดที่จะทำขนมเค้กเอง แต่ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขนมเค้กตอนนั้นยังไม่แพร่หลาย เครื่องมืออำนวยความสะดวกก็ไม่มี ขนมเค้กที่นายขุกมิ่งซื้อมาก็ทำเพียงให้เป็นรูปขนมเค้ก แต่ไม่ได้รสชาติของขนมเค้ก

นายขุกมิ่งพยายามซักถามคนจีนในเมืองตรังที่ทำขนมเค้กขาย แต่ก็ได้ความไม่มาก เพราะคนจีนดังกล่าวก็ทำแบบเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นภาระทั้งหมดจึงอยู่ที่ว่านายขุกมิ่งต้องคิดเอง เรื่องแรกที่นายขุกมิ่งให้ความพยายามอย่างมากคือการสร้างเตาอบขนมเค้ก เพราะขณะนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ใครคิดจะทำต้องสร้างเอง

นายขุกมิ่งนำถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร มาตัดเป็นท่อนให้ได้ขนาดความสูงพอที่จะใช้อบขนม เจาะช่องด้านข้างสำหรับใส่ถ่าน ฝาของถังน้ำมันก็นำลวดมาร้อยโยงยืดไว้ทั้ง 4 มุม  เพื่อทำเป็นฝาปิดเปิด ใช้อบเค้กได้ครั้งละ 4 ปอนด์ และนี่คือ “เตาอบ” หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “เตาผิง” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเค้กขุกมิ่ง

ลักษณะเฉพาะตัวของเค้กขุกมิ่งและปัจจุบันกลายเป็นลักษณะเฉพาะของเค้กเมืองตรังทั้งหมด  คือที่ขนมเค้กจะมีรูขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง รูดังกล่าวมาจากการที่นายขุกมิ่งมีประสบการณ์ว่าเวลาอบขนมเค้กนั้น ตัวขนมเค้กจะได้รับความร้อนไม่เท่ากัน โดยขอบรอบนอกจะได้รับความร้อนมากกว่าตรงกลาง เมื่อรอบนอกสุกแล้ว แต่ตรงกลางยังไม่สุก เมื่อรอให้ตรงกลางสุกตรงขอบนอกก็ไหม้ นายขุกมิ่งจึงออกแบบขนมเค้กให้มีรูตรงกลาง เพื่อเวลาอบเค้กจะได้สุขทั่วถึงกันในเวลาที่พอดี

นอกจากการประดิษฐ์เตาอบขนมเค้กและการคิดกรรมวิธีการอบจนลงตัวแล้ว นายขุกมิ่งยังได้ประดิษฐ์เครื่องตีไข่ที่มีลักษณะเฉพาะของตนขึ้นมา โดยใช้ลวดขนาดใหญ่นำมาขดเป็นวง ด้านหนึ่งยึดด้วยไม้ขนาดพอเหมาะมือสำหรับทำเป็นด้ามจับ ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือทำขนมเค้กที่มีคุณภาพ

เครื่องมือต่างๆที่จำเป็นสำหรับทำขนมเค้ก นายขุกมิ่งพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยในสมัยนั้นยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเช่นทุกวันนี้  แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคต่อความตั้งใจอันแน่วแน่ของนายขุกมิ่ง  ผู้ถูกหล่อหลอมชีวิตมาจากความลำบากยากแค้นแต่เยาว์วัย

สิ่งที่นายขุกมิ่งคิดควบคู่ไปกับการสร้างเทคโนโลยีในการทำขนมเค้ก คือ การหาส่วนผสมของขนมเค้กให้ลงตัวระว่างไข่ แป้งสาลี และน้ำมันเนย โดยนายขุกมิ่งจะเน้นให้ถึงเครื่องหรือส่วนผสมต่างๆ เพื่อให้เค้กออกมามีรสชาติดีที่สุด

คุณสุดสงวน ตุงคะรักษ์บุตรสาว เล่าว่าในการทดลองทำเค้กนั้นนายขุกมิ่งทดลองทำอย่างจริงจัง และมักจะอารมณ์เสียเมื่อเค้กที่ทดลองทำไม่ได้ผลตามที่ตั้งใจ โดยเอาเค้กที่ทำนั้นขว้างทิ้งไปหลังบ้านเมื่อชาวบ้านเห็นก็มาเก็บไปกิน ครั้งหลังๆนอกจากขว้างทิ้งแล้วยังตามไปย่ำด้วย เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเก็บไปกิน ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะหวง แต่เพราะไม่อยากให้ชาวบ้านบอกว่าเค้กที่ทำนั้นไม่อร่อย

ตามปกติคนทั่วไปจะรับรู้ว่าในขุกมิ่งเป็นคนมีอัธยาศัยดี หน้าตายิ้มแย้มตลอด แต่ในครอบครัวจะรู้ดีว่านายขุกมิ่งเป็นคนอารมณ์ร้อน และมักแสดงออกให้ภรรยาและลูกๆเห็นเสมอ ทั้งนี้เพราะนาย  ขุกมิ่งต้องทำงานเหนื่อยทั้งวัน  และการเป็นคนจริงจังในการทำงาน เมื่อทำอะไรไม่ได้ดังใจจึงมักแสดงออกด้วยอารมณ์ร้อนอยู่เสมอ แต่จะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

ความลงตัวของเค้กขุกมิ่งจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน ด้านแรก เทคโนโลยีที่ลงตัว  ด้านที่สอง ส่วนผสมที่พอดี ด้านที่สาม กรรมวิธีการผลิตที่พอดี โดยเฉพาะส่วนประกอบประการสุดท้ายนี้นายขุกมิ่งจะเป็นผู้ดูแลเองตลอด จนสามารถล่วงรู้ได้ตลอดว่าเวลาไหนจะทำอะไร เช่น การจะรู้ว่าความร้อนได้หรือยังต้องใช้มืออัง ซึ่งคนอื่นไม่รู้ต้องนายขุกมิ่งเท่านั้น การใส่ลูกเกดเข้าไปในเนื้อขนมเค้กจะต้องใส่ที่เค้กยังไม่สุก ถ้าใส่ตอนเค้กสุกมากแล้วลูกเกดจะติดอยู่เฉพาะหน้าเค้กไม่ลงไปที่เนื้อขนม ถ้าใส่ไปในช่วงที่เค้กยังสุกน้อยเกินไปหรือยังเหลวเกินไปลูกเกดก็จะตกไปนอนก้นหมด

บุตรสาวสรุปให้เห็นบางแง่มุมของการทำเค้กของนายขุกมิ่งว่า   “พื้นบ้านเป็นพื้นดิน เดินเหยียบจนเป็นมัน เป็นลอนลื่น เวลาก่อไฟถ่านก็ก่อบนพื้น จนถ่านลุกเป็นสีแดงแล้วจึงตักถ่านมาไว้บนฝาถังน้ำมันใช้อบขนม แล้วจึงกระจายถ่าน เกลี่ยถ่านให้สม่ำเสมอ ข้างล่างก็กระจายให้ทั่ว  ตรงกลางก็เอาถาดมาใส่แล้วเอาทรายมาเกลี่ยบนถาดทั่วทั้งแผ่นฝาถาด แล้วจึงเอาพิมพ์วาง ใช้ทรายเพราะทรายจะช่วยกระจายความร้อนเพื่อให้ขนมสุกทั่วทั้งลูกไม่ไหม้เป็นหย่อมๆ  ไม่มีเข็มวัดอุณหภูมิก็เอาก้านธูปเวลาเราไหว้พระจะเหลือก้านธูป เอามาล้างสีออกให้สะอาด เช่นเวลาอบได้ประมาณ ๓๐ นาทีไม่รู้ว่าข้างในสุกหรือยัง หากยังไม่สุกเวลาเทออกมาหน้ามันจะยุบลงไป ใช้ไม่ได้  ดังนั้นก็เอาก้านธูปนี่ล่ะค่ะจิ้มลงไป แล้วดึงขึ้นมาดู ถ้ายังเปียกแสดงว่าต้องอบต่อ เช่นอีก ๕ นาที นี่เป็นการประยุกต์มาใช้  หนังวัวก็ไม่ทราบว่าเตี่ยไปหามาจากไหนที่เอามาทำที่กันความร้อน”

การอบเค้กด้วยเตาผิงถังน้ำมันนั้น ความร้อนไม่ได้ถูกเก็บไว้ภายในเตาอย่างเช่นเตาอบทันสมัยที่ใช้กันในปัจจุบัน  ดังนั้นไอร้อนระอุจากถ่านจะทำให้ผิวหนังบริเวณหน้าอกแดงและแสบร้อนมาก จนจำเป็นต้องหาหนังวัวมาเย็บเป็นเอี๊ยมผูกคาดทับหน้าอกเพื่อช่วยกันความร้อน การที่ต้องอยู่หน้าเตาผิงนานนับชั่วโมงในแต่ละวัน ทำให้นายขุกมิ่งต้องดื่มแต่น้ำอัดลมเป็นหลัก  แทนอาหารมื้อเที่ยงหรือมื้อเย็นเพื่อดับความกระหาย ภาพของนายขุกมิ่งที่ยืนเหงื่อโชกอยู่หน้าเตาผิง ศีรษะพันด้วยผ้าขนหนูผืนเล็ก เพื่อคอยซับเหงื่อ  คาดเอี๊ยมหนังวัวที่หน้าอก  จึงเป็นภาพที่ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของลูก ๆ ทุกคนจนบัดนี้
ในระยะแรกนายขุกมิ่งทำเค้กขายอยู่ที่ร้านกาแฟของตัวเองเท่านั้น ลูกค้าก็คือผู้มาดื่มกาแฟ หรือชาวบ้านที่ต้องการซื้อขนมเค้กไปรับประทานที่บ้าน หรือรับประทานระหว่างทาง โดยสมัยนั้นยังไม่มีกล่อง นายขุกมิ่งจะนำเค้กมาใส่ถาดวางไว้ ใครซื้อก็ตัดขายเป็นชิ้น ผู้ที่ซื้อกลับไปรับประทานก็จะใส่กระดาษขาวแบบกระดาษห่อโรตีแล้วใช้เชือกกล้วยผูกให้เรียบร้อย กล่าวได้ว่าขนมเค้กของนายขุกมิ่งได้รับความนิยมจากชาวบ้านมาก และคนในย่านใกล้เคียงก็รู้จักขนมเค้กของขุกมิ่งเป็นอย่างดีจากการบอกต่อๆกันแบบปากต่อปาก นายขุกมิ่งจึงสามารถทำและพัฒนาขนมเค้กของตนได้ต่อเนื่องมา

หัวเลี้ยวหัวต่อของเค้กขุกมิ่งที่จะก้าวข้ามการเป็นขนมเค้กเฉพาะถิ่นเกิดขึ้นเมื่อปี 2503 ปี ๒๕๐๓ เมื่อ ม.ร.ว.ถนัดศรี  สวัสดิวัตน์  พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วยนายช่างหนุ่ม ๆ อย่าง น.ต.กำธน  สินธวานนท์ (ยศขณะนั้น ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) นายช่างประจวบ  นายช่างประทิน และนายช่าง       ศิริวัฒน์ เดินทางลงไปสำรวจปริมาณการผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดให้แก่การไฟฟ้ายันฮี  คุณชายเห็นชื่ออันมีเสน่ห์โรแมนติกของตำบลลำภูรา ก็เลยแวะพักทานกาแฟที่ร้านของนายขุกมิ่ง และมีโอกาสได้ชิมเค้กชื่อแปลก ๆ อันหอมนุ่มเนียนโปร่ง เบา ของนายขุกมิ่งเป็นครั้งแรก  ก็เกิดความประทับใจตั้งแต่ครั้งนั้น  ต่อมาเมื่อมีคอลัมน์เซลล์ชวนชิมเกิดขึ้นในปี 2504 ในนิตยสารฟ้าเมืองทอง จึงมีการแนะนำเค้กขุกมิ่งลงในคอลัมน์เซลล์ชวนชิม แต่ยังว่ายังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และนายขุกมิ่งเองก็ไม่รู้ว่ามีการแนะนำเค้กของตัวเองในคอลัมน์ดังกล่าว เนื่องจากไม่มีวารสารฟ้าเมืองไทยเผยแพร่มาถึง     ลำภูรา
นายขุกมิ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับ ม.ร.ว.ถนัดศรีอย่างถูกคอโดยไม่รู้จักว่าท่านคือใคร แต่นี่คือการเริ่มต้นของมิตรภาพที่ดีของทั้ง 2 ท่าน ซึ่งถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกันทั้งระยะทาง อาชีพการงาน และชาติวงศ์ แต่ก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ใกล้ชิดด้วยทั้ง 2 ฝ่ายเป็นคนชอบเรื่องอาหารด้วยกันทั้งคู่    

ในยุคนั้นถึงลำภูราจะยังไม่เจริญนัก แต่ก็นับได้ว่าลำภูราคึกคักกว่าเดิม เพราะอย่างน้อยตัวตลาดก็ขยายมากขึ้น ผู้คนที่ผ่านลำภูราก็มีมากขึ้นกว่าเดิม เค้กขุกมิ่งก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นแม้ว่าจะยังอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลักก็ตาม ลูกชายของนายขุกมิ่งจึงพยายามช่วยพ่อให้ลูกค้าขนมเค้กกว้างขวางยิ่งขึ้นโดยออกแบบสร้างกล่องบรรจุขนมเค้กและออกแบบตราขึ้นเป็นครั้งแรก ตอนนั้นกล่องยังเป็นแค่สีขาว พิมพ์ตราสีแดงไว้บนกล่อง รูปตราเป็นรูปนกนางแอ่นกำลังบินถลาลม ซึ่งหมายถึงคู่ผัวเมีย(นายขุกมิ่งและภรรยา) กำลังติดบินอย่างมีอนาคต และอย่างอดทน คือเค้กขุกมิ่งจะเป็นที่รู้จักยิ่งๆขึ้นไป ธุรกิจการทำขนมเค้กจะก้าวไปข้างหน้าไม่มีวันหยุด ส่วนตัวหนังสือบนตราจะใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เค้กขุกมิ่งกำลังผลักดันตัวเองให้พ้นระดับท้องถิ่น โดยกล่องดังกล่าวนี้สั่งทำจากเยาวราช กรุงเทพฯ
                         
                   ภาพประกอบ 2  ตราขนมเค้กขุกมิ่งที่สร้างขึ้นครั้งแรก

การเกิดขึ้นของการทำเค้กบรรจุกล่องดังกล่าวนี้คือการปรากฏชื่อ “ขุกมิ่ง” ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพราะชื่อเดิมของนายขุกมิ่งจริงๆคือ “ก๊กหมิ่ง” และยังคงใช้ชื่อนี้มาตลอด โดยชาวบ้านนิยมเรียกตามความสะดวกปากว่า “ก๊อกเหม่ง” ในการสร้างกล่องเค้กโดยมีชื่อและตราอยู่นับว่าเป็นครั้งแรกที่จะให้ยี่ห้อแก่ขนมเค้กอย่างเป็นทางการ พวกลูกๆจึงปรึกษากันว่าหากใช้ชื่อเดิมของพ่อจะเรียกยาก แล้วชื่อจะไม่ติดปากคน จึงน่าจะแปลงชื่อสักเล็กน้อยให้เป็นสำเรียงที่เรียกง่าย ชื่อ “ขุกมิ่ง” จึงเกิดขึ้นในโอกาสนี้เอง และในช่วงนี้นายขุกมิ่งได้เลิกกิจการร้านกาแฟและมุ่งไปสู่การผลิตเค้กเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามถึงแม้เค้กขุกมิ่งจะมีตลาดที่กว้างขึ้น แต่ว่าก็ยังเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ๆกับจังหวัดตรัง เช่น นครศรีธรรมราช กระบี่ เนื่องจากในความเป็นจริงนายขุกมิ่งก็ยังคงทำเค้กแบบกิจการของครอบครัว และยังคงใช้เทคโนโลยีแบบเดิม และก็ไม่ได้ทำการตลาดอะไรเป็นพิเศษ

จนกระทั่งปี 2512 ม.ร.ว.ถนัดศรีได้ผ่านมาที่ลำภูราอีกครั้ง โดยในปีนั้นมีการแข่งแรลลี่ขององค์การสหประชาชาติจากเวียงจันทร์ไปสิงคโปร์  ม.ร.ว.ถนัดศรี ได้ลงแข่งขันในทีมโฟล์กสวาเก้น  มีโอกาสแวะผ่านตำบลลำภูรา  จึงนึกถึงขนมเค้กและนายขุกมิ่งได้และได้แวะหา ทั้ง 2 ท่านยิ่งพูดกันถูกคอมากยิ่งขึ้น ม.ร.ว.ถนัดศรีจึงได้นำเค้กของนายขุกมิ่งไปเขียนแนะนำลงในคอลัมน์  “เซลล์ชวนชิมของถนัดศอ” อีกครั้ง คราวนี้ทำให้ชื่อเสียงของเค้กขุกมิ่งดังแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ภาพประกอบ 3 สัมพันธภาพของ ม.รว.ถนัดศรีกับนายขุกมิ่ง

ภาพประกอบ 4 ตราของเค้กขุกมิ่งในปัจจุบัน

นับว่า ม.ร.ว.ถนัดศรีได้มีส่วนเกื้อกูลนายขุกมิ่งอย่างมาก โดยทั้งสองฝ่ายถือว่าเป็นเพื่อนกัน ในระยะหลัง ม.ร.ว.ถนัดศรีได้ร่วมงานกับบริษัทผลิตปลากระป๋องปุ้มปุ้ย ซึ่งเจ้าของบริษัทเป็นนายทุนอยู่จังหวัดตรัง จึงมีโอกาสเดินทางมาที่ตรังบ่อย จึงได้พบกับนายขุกมิ่งอีกหลายครั้ง ดังที่ท่านเขียนเล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของนายขุกมิ่งดังนี้

จากนี้เค้กขุกมิ่งก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้นพร้อมกับทางร้านขุกมิ่งก็มีการปรับปรุงร้านเป็นระยะ เมื่อลูกสาวคือคุณสุดสงวน ตุงคะรักษ์ กลับมาจากอเมริกาเพื่อมาช่วยงานของบิดาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘เป็นต้นมา ก็ช่วยทำให้ร้านเค้กขุกมิ่งได้รับการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น โดยคุณสุดสงวนพยายามนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เช่น เตาอบ พยายามเพิ่มรสเค้กให้หลากลายมากขึ้นจากเดิมที่มีเฉพาะรสไข่ กับรสใบเตย มีการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ มีการสร้างและจัดร้านใหม่ให้ทันสมัย ซึ่งในช่วงนี้นายขุกมิ่งเองก็สูงอายุแล้วจึงหยุดทำงาน และให้ลูกสาวเป็นผู้ดำเนินการแทน

อย่างไรก็ตามลูกสาวของขุกมิ่งก็คงยังรักษาลักษณะเฉพาะบางอย่างที่สำคัญไว้ เพื่อให้เค้กขุกมิ่งยังมีลักษณะเชิงคุณค่าของท้องถิ่น เช่น การสร้างรสชาติเค้กยังคงใช้พืชและอาหารแท้เป็นส่วนผสม ไม่ใช้สารปรุงแต่งรส เช่น รสเตยหอม รสกล้วยไข่ รสส้ม รสผลไม้ รสช็อคโกเลต รสกาแฟ นอกจากนี้ยังใช้กรรมวิธีตีแป้งให้ฟูแบบเดิมไม่ใช้ผงฟูอย่างที่นิยมกันในปัจจุบัน เป็นต้น รวมทั้งยังตั้งฐานการผลิตอยู่ที่ ลำภูราเพียงแห่งเดียวทั้งที่มีโอกาสขยายการผลิตไปสู่ที่อื่นได้อีกมาก ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้เค้กขุกมิ่งอยู่คู่กับลำภูราอย่างที่นายขุกมิ่งตั้งใจไว้

                   ภาพประกอบ 5 นางสุดสงวน  ตุงคะรัก บุตรสาวผู้ดำเนินกิจการขนมเค้กต่อจากบิดา
นายขุกมิ่งเสียชีวิตเมื่อ 14 พฤษภาคม 2547 รวมอายุ 88 ปี แต่คนก็ยังไม่ลืมนายขุกมิ่ง และคนรุ่นหลังพยายามสืบทอดคุณลักษณะของนายขุกมิ่งบางอย่างให้คนรู้จักควบคู่กับขนมเค้กซึ่งกลายเป็นของดีเมืองตรังในปัจจุบัน คือคุณลักษณะของนายขุกมิ่งที่ปรากฏในโปสเตอร์ขนมเค้กที่ทางร้านทำขึ้นเป็นฉบับแรกในปี 2537 ดังนี้

ภาพประกอบ 6 โปสเตอร์โฆษณาเค้กขุกมิ่งที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก

ข้อความที่ปรากฏอยู่ในโปสเตอร์นี้คือ “50กว่าปีก่อน ชายคนนี้ที่ชื่อ ขุกมิ่ง ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 มาเพื่อผลิตเค้กขุกมิ่ง วันนี้.....ผ่านมา 50 กว่าปี ชายคนนี้...ยังคงต้องตื่นมาเพื่อควบคุมการผลิต ให้ทุกขั้นตอนยังคงคุณค่าความอร่อยให้ได้มาตรฐานขุกมิ่ง...เหมือนเมื่อวันวาน”

4 เค้กขุกมิ่งกับชุมชนตลาดลำภูรา

ปัจจุบันเค้กขุกมิ่งกับลำภูราเป็นสิ่งคู่กัน เมื่อเอ่ยถึงเค้กขุกมิ่งคนก็จะนึกถึงลำภูรา หรือเมื่อเอ่ยถึงลำภูราคนก็จะนึกถึงเค้กขุกมิ่ง ทั้งนี้แน่นอนว่าเป็นเพราะผู้คนได้เห็นนายขุกมิ่งทำเค้กอยู่ที่ลำภูรามาแต่เดิม และค่อยๆพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ โดยประชาชนในพื้นที่และผู้ผ่านไปมาได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตลอด คือการเข้ามาซื้อหาและวิพากษ์วิจารณ์ถึงรสชาติ เพราะผู้ที่เข้ามากินหรือมาซื้อขนมเค้กส่วนใหญ่ก็คือคนรู้จักกัน และนายขุกมิ่งก็พยายามปรับปรุงขนมเค้กของตนเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค

ดังนั้นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆของนายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่งจึงอยู่ในสายตาของคนในชุมตลาดลำภูราและชุมชนรายรอบมาตลอด เมื่อเค้กขุกมิ่งกลายเป็นขนมเค้กที่มีชื่อเสียงมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนท้องถิ่นอื่นรู้จักลำภูรา คนลำภูราทั่วไปจึงยอมรับ และภูมิใจที่เค้กขุกมิ่งสามารถมีบทบาทเช่นนี้ได้
การกล่าวเค้กขุกมิ่งมีส่วนทำให้คนในจังหวัดอื่นๆได้รู้จักลำภูราดีขึ้นนั้นมีตัวอย่างสนับสนุนมากมาย  ตัวอย่างหนึ่งจะเห็นได้จากการมีบทความและสารคดีจำนวนมากของหนังสือพิมพ์และวารสารเขียนถึงนายคุกมิ่งและเค้กขุกมิ่ง รวมทั้งมีรายการสารคดีทางโทรทัศน์หลายรายการที่เสนอเรื่องนายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่ง ซึ่งแน่นอนว่าการกล่าวถึงเค้กขุกมิ่งย่อมกล่าวถึงลำภูราด้วย ทำให้ลำภูราเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปควบคู่ไปกับเค้กขุกมิ่ง ในสายตาของชาวลำภูราจึงมองเค้กขุกมิ่งคล้ายเป็นสมบัติลำภูราที่พวกเขาภาคภูมิใจ ในขณะที่ทายาทของนายขุกมิ่งก็ตระหนักดีว่าเขาจะทำขนมเค้กเพื่อหวังกำไรแต่เพียงประการเดียวไม่ได้ แต่เข้าต้องรักษาเค้กให้มีคุณค่าทางอาหารและการสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อให้เค้กคุกมิ่งยังคงเป็นสมบัติของลำภูราตลอดไป

อีกประการหนึ่ง เค้กขุกมิ่งได้มีส่วนสำคัญช่วยให้ลำภูรามีความคึกคักในเรื่องการทำเค้ก อันเนื่องมาจากมีผู้คนจากหลากสารทิศมาแวะที่ลำภูราเพื่อซื้อหาขนมเค้ก ทำให้ที่ลำภูราเกิดขนมเค้กเพิ่มขึ้นถึง 7 ราย คือ เค้กนำเก่ง เค้กศรียง เค้กช่อลำดา เค้กศิริวรรณ เค้กโกป๊อก เค้กโกดำ เค้กเพชรน้ำผึ้ง ในจำนวนนี้มีเค้กเก่าแก่รายหนึ่ง คือ เค้กศรียง ผู้ผลิตดั้งเดิมคือนายศรียง   นายศรียงเป็นคนรุ่นเดียวกับนายขุกมิ่ง ซึ่งแต่เดิมนายศรียงได้เปิดร้านบริการซักรีด และเมื่อมีเวลาว่างจากการงานก็จะมาช่วยนายขุกมิ่งทำขนมเค้กที่ร้านกาแฟนายขุกมิ่ง ทำอยู่เป็นเวลาหลายปี มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีทำขนมเค้กจากนายขุกมิ่ง  ต่อมาเมื่อขนมเค้กได้รับความนิยมจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น นายศรียงจึงได้ออกมาทำขนมเค้กเพื่อจำหน่ายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้นิยมขนมเค้ก

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเค้กขุกมิ่งมีส่วนทำให้ลำภูราคึกคักในด้านการค้าขาย และทำให้คนลำภูรามีรายได้มากขึ้น

ไม่เพียงเฉพาะลำภูราเท่านั้น แต่นายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่งได้ให้ชีวิตชีวาแก่การผลิตและการค้าขายเค้กของเมืองตรังอย่างมาก จากแต่เดิมสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรังที่คนทั่วไปรู้จักกันดีมีประการเดียวคือ”หมูย่างเมืองตรัง” แต่ปัจจุบันขนมเค้กเมืองตรังกลายเป็นสิ่งที่ผู้มาเยี่ยมเยียนคุ้นเคยและซื้อหากลับไปฝากญาติมิตร ปัจจุบันในจังหวัดตรังมีผู้ผลิตเค้กอยู่ทั้งหมดมากกว่า 200 ราย

                                  ภาพประกอบ 7 นายขุกมิ่งมิ่งในช่วงปัจฉิมวัยกำลังสาธิตวิธีอบเค้กแบบเดิมให้ผู้สนใจดู        

  กล่าวได้ว่าเค้กขุกมิ่งส่งผลให้เกิดเค้กตราอื่นๆตามมา เพราะเค้กขุกมิ่งคือเค้กตราแรกที่มีในจังหวัดตรัง และสามารถสร้างชื่อเสียงและการยอมรับได้อย่างกว้างขวาง จึงเปิดพื้นที่ให้แก่เค้กตราอื่นๆตามมา เนื่องจากมีผู้ต้องการบริโภคเค้กเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ของการสนับสนุนการท่องเที่ยว อีกประการหนึ่งคือเค้กขุกมิ่งคุกมิ่งกลายเป็นต้นแบบในการสร้างเอกลักษณ์ให้เค้กเมืองตรัง โดยเค้กตราต่างๆล้วนรับเอาเอกลักษณ์ดังกล่าวไปปฏิบัติร่วมกัน คือการทำขนมเค้กให้มีรูตรงกลาง แม้ว่าในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีแล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีการอบมีความก้าวหน้ามากแล้ว ซึ่งเค้กที่มีรูตรงกลางนี้มีเฉพาะเค้กที่ผลิตจากจังหวัดตรังเท่านั้น

เมื่อมีการพัฒนาการท่องเที่ยวกันอย่างจริงจัง ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการพัฒนาการท่องเที่ยวดังกล่าวมีส่วนที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอยู่ด้วย นาย ขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่งจึงเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมประการหนึ่งของจังหวัดตรังที่ทุกฝ่ายยอมรับ ดังนั้นทางราชการ หอการค้าจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันใช้เค้กขุกมิ่งโปรโมทการท่องเที่ยว ซึ่งพบว่าไม่มีเสียงคัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆเลย เพราะทุกฝ่ายต่างทราบดีว่านายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่งได้พัฒนาตนเองมาในลักษณะที่สมควรเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดจริงๆ และภายใต้กระบวนการนี้จึงมีผู้มาเยี่ยมเยียนนายขุกมิ่งและร้านเค้กของเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงแม้นายขุกมิ่งจะอยู่ในช่วงปัจฉิมวัยแล้วแต่เต็มใจต้อนรับผู้มาเยี่ยมด้วยอัธยาศัยที่ดีและมีความสุข

     ภาพประกอบ 8 บุคคลสาธารณะที่มาแวะเยี่ยมนายขุกมิ่ง

ย้อนกลับมาที่ลำภูลา กล่าวสรุปได้ว่านายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่งได้มีส่วนต่อความเติบโตของชุมชนตลาดลำภูรามาอย่างต่อเนื่อง โดยอาจสรุปบทบาทของนายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่งต่อชุมชนลำภูราได้ 4 ช่วง
ช่วงแรก เป็นช่วงที่นายขุกมิ่งเปิดร้านและและผลิตขนมเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่เป็นหลัก ทำให้คนในพื้นที่มีอาหารที่ถูกปากรับประทาน โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับช่วงการทำมาหากินของพวกเขา คือการกรีดยาง ที่ต้องทำงานในช่วงดึกเสร็จในช่วงสาย ร้านกาแฟและขนมจึงเป็นที่ต้องการของคนทำสวนยางในทุกวัน ร้านกาแฟขุกมิ่งจึงช่วยสร้างสรรค์วิถีชีวิตของชาวบ้านให้ตึกคักต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความคึกคักให้แก่ตลาดลำภูราด้วย คือทำให้ชาวบ้านเข้าออกตลาดลำภูราต่อเนื่องตลอดทั้งวัน อีกทั้งในช่วงนี้คนที่เดิมทางผ่านเพื่อจะเข้าเมืองตรัง หรือกลับจากเมืองตรัง หรือกลุ่มที่มารอขึ้นรถไฟ ก็มักจะแวะดื่มกาแฟ ซึ่งเท่ากับร้านกาแฟมีส่วนช่วยดึงดูดให้คนแวะลำภูรา และช่วยให้เกิดการขยายตัวของความเป็นตลาดมากขึ้น

ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่ขนมเค้กของนายขุกมิ่งเป็นที่รู้จักพอสมควรแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงต้นทศวรรษ2500 เป็นต้นมา ช่วงนี้การคมนาคมเจริญพอสมควรแล้ว ถนนเพชรเกษมที่ผ่านตลาดลาดลำภูราก็ลาดยางแล้ว ผู้คนที่ผ่านตลาดลำภูราก็มีมากขึ้น ตลาดก็ขยายตัวมากขึ้น ทั้งมีผู้ย้ายถิ่นเข้ามาตั้งร้านค้าเพิ่มขึ้น และลูกหลานร้านค้าเดิมแยกเรือนออกมาตั้งร้านค้าใหม่ ในช่วงนี้นายขุกมิ่งเริ่มเลิกขายกาแฟ มุ่งผลิตเค้กเป็นหลัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ยังคงอาศัยลูกค้าในท้องถิ่นเป็นหลักเค้กของนายขุกมิ่งก็ขายได้มากพอสมควร แต่จุดเด่นในช่วงนี้คือเป็นช่วงที่นายขุกมิ่งพยายามปรับปรุงผลผลิตของตนให้ลงตัว และเริ่มคิดที่จะขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้น โดยการเริ่มสร้างกล่องบรรจุเค้ก บทบาทของนายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่งต่อชุมชนตลาดลำภูราในช่วงนี้นอกจากการผลิตขนมตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นสินค้าสำคัญของตลาดลำภูรา ซึ่งจะทำให้ตลาดลำภูรากลายเป็นศูนย์กลางบางอย่างที่คนต่างถิ่นเมื่อผ่านไปมาต้องหยุดแวะเพื่อซื้อหาสินค้าดังกล่าวและเลยไปถึงสินค้าอื่นๆด้วย ทำให้นายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่งมีส่วนสำคัญต่อความเติบโตของตลาดลำภูรา


ภาพประกอบ  8   นายขุกมิ่งและร้านเค้ก ซึ่งเป็นร้านเดียวกับร้านกาแฟและที่อยู่อาศัย
ช่วงที่สาม เป็นช่วงที่เค้กขุกมิ่งสามารถเปิดพื้นที่ได้กว้างกว่าระดับท้องถิ่นอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ได้มาพบกับนายขุกมิ่งเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2512 และนำเค้กขุกมิ่งไปเขียนแนะนำอีกครั้งในคอลัมน์เชลล์ชวนชิม ซึ่งในช่วงนี้สิ่งพิมพ์สามารถกระจายออกสู่จังหวัดต่างๆมากพอสมควรแล้ว จึงมีผู้รู้จักเค้กขุกมิ่งกว้างขวางขึ้น ใครเดินทางผ่านมาก็มักแวะซื้อขนมเค้กดังกล่าว ต่อมาลูกสาวที่ไปพำนักอยู่กับครอบครัวที่อเมริกาได้เดินทางกลับมาดูแลบิดา และรับผิดชอบการดำเนินงานร้านขนมเค้กต่อจากบิดา ทำให้การผลิตเค้กขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งรูปแบบและรสชาติ ทำให้เค้กขุกมิ่งสามารถทำตลาดได้กว้างขวาง มีสื่อสารมวลชนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์นำเรื่องราวของเค้กขุกมิ่งไปเผยแพร่ ในยุคนี้กล่าวว่าเค้กขุกมิ่งเป็นสัญลักษณ์ของลำภูราอย่างเต็มตัว มีส่วนสร้างความคึกคักให้แก่ตลาดลำภูราอย่างมาก ทั้งในส่วนของการเป็นแรงดึงดูดให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆมาแวะที่ตลาดลำภูราและการกระตุ้นให้เกิดผู้ผลิตเค้กเกิดขึ้นที่ลำภูราอีกหลายราย ทำให้ลำภูรากลายเป็นตลาดท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อลือชาด้านขนมเค้กไปโดยปริยาย

ช่วงที่สี่ เป็นช่วงของการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เค้กขุกมิ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดตรัง ในช่วงนี้ลำภูราคึกคักเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะนอกจากจะมีผู้มาแวะชมเพิ่มขึ้นมากแล้ว แขกสำคัญๆที่มาเยี่ยมชมจังหวัดตรังจะต้องเลยมาเยี่ยมนาขุกมิ่งและร้านเค้กขุกมิ่งด้วย ช่วงนี้ขนมเค้กได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดตรัง และดูเหมือนจะเป็นที่นิยมมากกว่าหมูย่างซึ่งเป็นสัญลักษณ์เดิมของอาหารเมืองตั้งเสียด้วยซ้ำ และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้คือคุณูปการที่สำคัญของนายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่ง หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2544 ได้ตีพิมพ์บทความสารคดีเรื่อง ขุกมิ่ง แซ่เฮง ผู้สร้างตำนานเค้กดัง “เคักขุกมิ่ง” ต้นตำรับเค้กเมืองตรัง เขียนโดยทองขาว กัณหาจันทร์ ซึ่งก็ช่วยยืนยันข้อสรุปดังกล่าวได้ ดังความตอนหนึ่งว่า “ปัจจุบันเค้กเมืองตรังได้รับความนิยมในแทบทุกเทศกาล นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่เดินทางมาเที่ยวจังหวัดตรัง หรือแม้จะเป็นการเดินทางผ่านไปจังหวัดอื่นๆ ย่อมรู้จักเค้กเมืองตรังดีพอๆกับชื่อของจังหวัดตรัง ผู้ที่สัญจรไปมานอกจากจะได้อิ่มอร่อยกับเค้กอันมีชื่อแล้ว ยังเป็นของฝากประทับใจสำหรับมิตรสหายหรือญาติที่เคารพนับถือ”

ปัจจุบันแม้ลำภูราจะเป็นตลาดระดับตำบลแต่ว่าเป็นเป็นชุมชนขนาดใหญ่  มีร้านค้าขยายตัวขึ้นอีกจำนวนมาก และมีผู้คนจากต่างถิ่นมาประกอบกิจการร้านค้าในตลาดลำภูราเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้นด้วย เริ่มมีสวนสาธารณะสำหรับการพักผ่อน มีลานออกกำลังกาย สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชน เช่น การเต้นแอโรบิค  ลานออกกำลังกาย เป็นต้น  มีสถานที่ราชการเพิ่มขึ้นมากในบริเวณใกล้ๆกับตลาด เช่น เทศบาล ไปรษณีย์ โรงเรียนลำภูราเรืองวิทย์ ค่ายทหารพระยารัษฎานุประดิษฐ์  รวมทั้งหน่วยงานและหน่วยธุรกิจต่างๆก็ขยายตัวเข้ามาบริการคนย่านนี้ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สนามกอล์ฟศรีตรัง เป็นต้น ตลาดลำภูราที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวโดยคนกลุ่มเล็กๆจึงไม่เหลือร่องรอยเดิมไว้ให้เห็นอีกแล้ว เพียงแต่ว่ายังมีความพยายามที่จะสืบทอดตัวตนบางอย่างของลำภูราไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ชาวลำภูรารุ่นหลังได้รู้ว่าเขาคือใคร เขามีดีอะไร และจะใช้สิ่งที่มีดังกล่าวไปสร้างความสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นอย่างไร และสิ่งที่พวกเขามีดังกล่าวที่ชัดเจนสุดก็คือ “ขนมเค้กลำภูรานั่นเอง”

5 บทส่งท้าย

ตลาดลำภูราเป็นชุมชนเล็กๆที่ก่อร่างสร้างตัวโดยคนกลุ่มเล็กจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในปัจจุบัน เป็นชุมชนหนึ่งของประเทศที่มีผู้คนรู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้ได้มาจากการร่วมกันสร้างสรรค์ของชาวตลาดลำภูรา โดยเฉพาพนายขุกมิ่งเจ้าตำรับเค้กดัง และเป็นต้นกำเนิดของเค้กเมืองตรัง เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้แก่ลำภูราตราบจนถึงทุกวันนี้ หากพิจารณาประวัติศาสตร์ของลำภูราผ่านชีวิตและบทบาทของนายขุกมิ่งจะพบข้อสรุปที่สำคัญบางประการที่คนรุ่นหลังสมควรรับรู้ ดังนี้

ประการแรก ชุมชนตลาดลำภูราเกิดและขยายตัวโดยกลุ่มคนจีนที่อพยพมาจากที่ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจีนจะสามารถสร้างชุมชนของตนแต่เพียงลำพัง แต่ต้องร่วมกับคนไทยในท้องถิ่นอย่างเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน เคารพซึ่งกันและกัน หากมองผ่านบทบาทของนายขุกมิ่งจะพบได้อย่างดีว่านายขุกมิ่งพยายามที่จะทำในสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่น ทำด้วยความเคารพคนในท้องถิ่น แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยอย่างการตั้งร้านกาแฟ ดังจะเห็นว่านายขุกมิ่งพยายามปรับปรุงรสชาติอาหารของตนให้เป็นที่พอใจของคนในท้องถิ่นอยู่ตลอดเวลา โดยยึดหลักฟังเสียงและสังเกตความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างจริงจัง ในขณะที่ใช้ท่าทีของความอ่อนน้อมถ่อมตน ยิ้มแย้มแจ่มใส ในการติดต่อสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น ส่วนคนในท้องถิ่นก็ยินดีต้อนรับและสัมพันธ์ด้วย เพราะคนจีนได้เข้ามาเสริมในส่วนที่คนในท้องถิ่นขาด และเข้ามาด้วยท่าทีของความเป็นมิตร ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะพบว่านายขุกมิ่งเขียนภาษาไทยไม่ได้ พูดไทยไม่ชัด แต่สามารถสร้างชีวิต สามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นกลุ่มต่างๆมาอย่างราบรื่น และประสบผลสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นลำภูราจึงเกิดจากการสร้างสรรค์ร่วมกันของคนต่างกลุ่มที่ร่วมกันทำหน้าที่บนพื้นฐานของการเข้าใจความแตกต่างและการเคารพซึ่งกันและกัน

ประการที่สอง ร้านน้ำชาและต่อมาพัฒนาเป็นร้านขนมเค้กของนายขุกมิ่งมีส่วนสร้างสังคม
ลำภูราต่อเนื่องมา และนายขุกมิ่งยังคงเป็นบุคคลที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดมา ก็เนื่องจากร้านกาแฟสมัยนั้นทำให้คนในท้องถิ่นเกิดพื้นที่ร่วมแบบใหม่ที่คนจะมาพบปะพูดคุยกันได้ เนื่องจากวิถีชีวิตของคนพื้นที่ในสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงจากเดิมพอสมควร โดยเฉพาะการทำสวนยางเป็นอาชีพหลัก ซึ่งทำให้พื้นที่ร่วมแบบเดิมหายไป เช่น การแลกเปลี่ยนแรงงานในการทำนา การประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำการเกษตร ในขณะที่การทำสวนยางเป็นการทำแบบของใครของมัน และต้องออกกรีดยางในเวลากลางคืน ดังนั้นร้านกาแฟซึ่งเปิดจึงเป็นพื้นที่แบบใหม่ที่รองรับผู้ที่กรีดยางเสร็จในตอนเช้าได้อย่างพอดี ซึ่งพบว่าชาวบ้านที่มาดื่มกาแฟและกินขนมที่ร้านกาแฟนายขุกมิ่งนั้น ไม่ได้มากินกาแฟและขนมเป็นกิจกรรมหลัก แต่เพราะต้องการมาพูดคุยกัน เนื่องจากพวกเขามีเรื่องราวมากมายจากการประกอบอาชีพกรีดยางที่ต้องการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ต้องการพื้นที่การพูดคุยกันหลังการกรีดยางมาหลายชั่วโมง บุคคลอย่างนายขุกมิ่งจึงไม่ใช่ชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบอาชีพเพื่อหารายได้เท่านั้น

แต่เขายังมีส่วนสำคัญในการสร้างพื้นที่ทางกายบางอย่างเพื่อให้เกิดพื้นที่ทางสังคมของชาวบ้านที่สามารถตอบสนองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นใหม่ได้ และเมื่อสังคมตลาดลำภูราขยายตัวมากขึ้นความมากหน้าหลายตาของผู้คนที่เข้ามาสู่ลำภูราเริ่มหลากหลายกว่าแต่เดิมซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากชาวบ้านจากชุมชนรายรอบ การเพิ่มขึ้นของคนจากหลายถิ่นหลายที่ดังกล่าวร้านกาแฟแบบเดิมไม่สามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่ร่วมได้อีกต่อไป การที่นายขุกมิ่งสามารถผลิตเค้กและเปลี่ยนแปลงร้านของตนเป็นร้านขายเค้กก็คือการปรับตัวเองเพื่อยังคงบทบาทของการเป็นพื้นที่ร่วมในสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้ ดังจะเห็นว่าในปัจจุบันร้านเค้กขุกมิ่งคือพื้นที่ร่วมที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นสถานที่แปลกหน้า ใครที่เข้าไปในนั้นล้วนพูดคุยกันได้ พูดคุยกับเจ้าของร้าน ถามถึงเถ้าแก่คุกมิ่งคล้ายกับว่าเป็นคนรู้จักกันมาแต่ดั้งเดิม ในขณะที่เจ้าของร้านบอกเรื่องราวและข่าวสารข้อมูลคล้ายกับว่ารู้จักคนที่แวะเข้ามามานานแล้ว ในขณะที่ร้านกาแฟอื่นที่เคยอยู่ได้คู่มากับนายขุกมิ่งต้องปิดตัวเองไปนานแล้ว เพราะว่าไม่สามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่สังคมยอมรับนายขุกมิ่งไม่ใช่เพราะนายขุกมิ่งทำขนมอร่อยเท่านั้น แต่ว่านายขุกมิ่งสามารถทำให้ร้านค้าและธุรกิจของตนกลายเป็นพื้นที่ร่วมของคนในสังคม    


เบเกอร์รี่


Cafe Britt - Premium Gourmet Coffee